ReadyPlanet.com


โรคซึมเศร้า


 ซึมเศร้า คืออะไร?

 

“ซึมเศร้า” ทางการแพทย์ หรือ Clinical depression หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลายๆ โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ คือ โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder หรือ Depressive episode) และ โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) โรคทางอายุรกรรมบางโรค สารยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าที่รุนแรงได้

 

สาเหตุโรคซึมเศร้า

 

   โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรมและปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ

 

   ส่วนปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็กอาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาทซึ่งอาจพบร่องรอยว่าถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง ภาวะซึมเศร้าเพราะความชราเกิดเพราะความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิตโดดเดี่ยว ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือปัญหาที่เรียกกันว่าภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ (สูญเสียคุณค่าในตน ไม่มีงาน มีความรู้สึกว่าไร้สมรรถภาพ)

 

   นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภาวะซึมเศร้าจากปฏิกิริยาทางใจ เช่น อาการซึมเศร้าหลังจากคู่แต่งงานเสียชีวิต ตกงาน หย่าร้าง ภาวะซึมเศร้าเพราะสภาพจิตใจอ่อนล้า เป็นการตอบสนอง ทางใจต่อสภาวะความเครียดเรื้อรัง เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ความกดดันจากงานที่ต้องรับผิดชอบ การเปลี่ยนงาน ภาระมากเกินไป ภาวะซึมเศร้าชนิดนี้มักเกิดในหญิงซึ่งต้องรับภาระทั้งในครอบครัวและทำงานนอกบ้าน และในชายที่อยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี ซึ่งถูกกดดันจากการไม่อาจขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงานของตนได้

 

สังเกตอาการ

 

เมื่อคนในครอบครัวหรือใกล้ชิดเข้าข่ายซึมเศร้า หลักการสังเกตง่ายๆ ควรสังเกตพฤติกรรมดังต่อไปนี้

 

1. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คือมักมีความคิดไปในทาง Negative Thinking หรือความคิดที่เป็นด้านลบตลอดเวลา มักรู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ ในที่สุดก็จะคิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย และพยายามที่จะฆ่าตัวตาย

2. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนุก งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เพิ่มความสนุก รวมทั้งกิจกรรมทางเพศ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลัง ทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม การตัดสินใจแย่ลง

3. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คือ มักมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวลอยู่ตลอดเวลา มักหงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น

4. พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายหลับมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม มีอาการทางกายรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแย่ลง

 

สามารถทำแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย (Depression and Risk of suicide) โดยสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดว่ามีใครมีอาการตามตารางบ้างในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

หากพบว่า มีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 4 ข้อ ต้องพยายามระมัดระวังความคิด และพยายามดึงตัวเองออกมาจากภาวะนั้นให้ได้ พยายามเตือนตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือเปล่า หากรู้ตัวว่าไม่สามารถหยุดความคิดได้ หรือยิ่งรู้สึกสิ้นหวังแบบรุนแรงจนรู้สึกหมดซึ่งหนทางที่อยากจะใช้ชีวิตต่อไป ต้องรวบรวมกำลังใจเพื่อให้โอกาสตัวเอง โดยการหาทางระบายความคิดและความรู้สึกของตัวเองออกมา แต่การให้โอกาสที่ดีกับตัวเองต้องพยายามเปิดใจหาผู้ที่ท่านมั่นใจว่าช่วยเหลือท่านได้จริงๆ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อความปลอดภัยจากภาวะซึมเศร้าที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้นให้ได้

 

รักษา

 

การรักษาโรคซึมเศร้า มีทั้งรักษาด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งในบางคนอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

 

1. การรักษาด้วยจิตบำบัด เป็นวิธีการรักษาซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของทฤษฎีทางจิตวิทยา เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีในการลดอาการซึมเศร้าวิธีหนึ่ง การทำจิตบำบัดมีหลายรูปแบบ ได้แก่ จิตบำบัดแบบประคับประคอง จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นการปรับความคิดความเข้าใจ จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด ทั้งนี้ ผู้บำบัดจะพิจารณารูปแบบของการบำบัดตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย

 

2. การรักษาด้วย dTMS สมองของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีการปล่อยและรับสารเคมีที่ผิดไปจากปกติ การรักษาด้วย dTMS (deep Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นสมองในตำแหน่งที่ต้องการ คล้ายการออกฤทธิ์ของยา เหนี่ยวนำให้การปล่อยประจุไฟฟ้าเข้าไปปรับสมดุลทุกส่วนที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนที่กระตุ้น ช่วยให้สารเคมีในสมองกลับมาทำงานเป็นปกติ

 

3. การรักษาด้วยการใช้ยา ในการใช้ยารักษาอาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ดังนี้

• ยากลุ่ม Tricyclics อาการข้างเคียง คือ คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก มึนงง ตาพร่า หน้ามืดเวลาเปลี่ยนท่า หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ง่วงนอน

• ยากลุ่ม Tetracyclics group อาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ง่วงนอนมาก

• ยากลุ่ม Triazolopyridines group อาการข้างเคียง คือ ง่วงนอนมาก มึนงง ความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่าทำงาน ปวดหัว

• ยากลุ่ม NDRI อาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง นอนไม่ค่อยหลับ คลื่นไส้ อาเจียน

• ยากลุ่ม SSRI group อาการข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย อาจมีอาการนอนไม่หลับและความต้องการทางเพศลดลง

• ยากลุ่ม SNRI Group อาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ และความต้องการทางเพศลดลง

 

   อาการข้างเคียงของยาที่มาจากสารสื่อประสาท Serotonin มีปริมาณสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการ Serotonergic Effect กล้ามเนื้อกระตุก สั่น สามารถลดอาการดังกล่าวได้โดยใช้ยาแก้แพ้ร่วมด้วยหรือหยุดยา ซึ่งอาการจะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง

 

   ขั้นตอนการรักษาทั้งหมดจะมีจิตแพทย์เป็นผู้ประเมินอาการ เพื่อพิจารณายาที่จะใช้ในการรักษา โดยเริ่มในขนาดยาที่ต่ำก่อน แล้วนัดติดตามผลการรักษา ก่อนปรับขนาดยาขึ้นทุกๆ 1-2 สัปดาห์ จนเห็นผลการรักษาที่ดี

 

   การกินยาไม่ใช่จะดีขึ้นทันทีที่กิน แต่ต้องมาพบจิตแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น อาจต้องกินยาต่อเนื่องอีก 4-6 เดือน แล้วจึงค่อยลดขนาดยาลงจนหยุดยาได้ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง

 

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า

 

1. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงาน การปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป

2. แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้

3. อย่าพยายามบังคับตนเอง หรือตั้งเป้ากับตนเองให้สูงเกินไป เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง

4. พยายามทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับบุคคลอื่นดีกว่าอยู่เพียงลำพัง

5. เลือกทำกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไป เช่น การชมภาพยนตร์ การออกกำลังกายเบาๆ การร่วมทำกิจกรรมทางสังคม

6. อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น การลาออกจากงาน การแต่งงาน หรือการหย่าร้าง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่รู้จักผู้ป่วยดี และต้องเป็นบุคคลที่สามารถพิจารณาเหตุการณ์นั้นอย่างเที่ยงตรง มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติที่เกิดจากอารมณ์มาบดบัง ถ้าเป็นไปได้และที่ดีที่สุดคือ เลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าภาวะโรคซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้นมากแล้ว

7. ไม่ควรตำหนิหรือลงโทษตนเองที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ เพราะไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย ควรทำเท่าที่ตนเองทำได้

8. อย่ายอมรับว่าความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นในภาวะซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งที่แท้จริงของตนเอง เพราะโดยแท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของโรคหรือความเจ็บป่วย และสามารถหายไปได้เมื่อรักษา

9. ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลายเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นก็อาจมีบุคคลรอบตัวๆ ที่ไม่เข้าใจในความเจ็บป่วยของผู้ป่วย และอาจสนองตอบในทางตรงกันข้ามกลายเป็นการซ้ำเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

 

1. เข้าใจ การเข้าใจโรคที่ผู้ป่วยเป็น สามารถช่วยให้ญาติลดความคาดหวัง ความหงุดหงิด และความคับข้องใจในตัวผู้ป่วยได้

2. รับฟังแบบ deep listening การฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ และไม่ตัดสิน จะช่วยให้ความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้น

3. ระบายความรู้สึก เมื่อผู้ป่วยได้ระบายความคิด ความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะความคิดอยากฆ่าตัวตาย จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้

4. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรง จิตใจแจ่มใส หากได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นจะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

5. เปลี่ยนบรรยากาศ ควรพาผู้ป่วยไปเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ จะช่วยให้จิตใจของผู้ป่วยแจ่มใส สดชื่นขึ้นได้อีกทาง

6. ป้องกันทำร้ายตนเอง ญาติต้องระวังผู้ป่วยทำร้ายตนเอง โดยเก็บอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสามารถนำมา ทำร้ายตนเองให้ออกห่างผู้ป่วย

7. สังเกตอาการ หมั่นสังเกตอาการผู้ป่วยว่ามีเรื่องเศร้า เครียด หรือคิดทำร้ายตนเองหรือไม่ ถ้าพูดคุยแล้วไม่ดีขึ้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ

8. ดูแลกิจวัตร ติดตามการกินยา ญาติควรช่วยดูแลกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย เช่น กินอาหารให้เหมาะสม ตื่นและนอนให้เป็นเวลา รวมถึงติดตามการกินยาให้เป็นไปตามที่แพทย์สั่งและอดทนเพราะการรักษาให้เห็นผลต้องใช้เวลา



ผู้ตั้งกระทู้ POPCORN (popc9251-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2023-12-14 04:19:12


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2016 All Rights Reserved.